BASELWORLD ฤาจะถึงกาลร่ำลา? (ตอนที่ 1)

Cultural Perspectives • 29 Jun 2020

BASELWORLD ฤาจะถึงกาลร่ำลา? (ตอนที่ 1)


สำหรับโลกเวลาแล้ว ที่ผ่านมา…ช่วงเวลาที่จะมีนาฬิกาใหม่ๆ เปิดตัวสู่ตลาดมากที่สุดคือ ช่วงแห่งมหกรรมงานแสดงนาฬิกาประจำปีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ‘BASELWORLD’ (บาเซิลเวิลด์) ณ เมืองบาเซิล สวิตเซอร์แลนด์ ตำนานที่อยู่คู่วงการนาฬิกาโลกมานานกว่าศตวรรษ หากแต่ ค.ศ. 2020 นี้ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์อันยาวนานนี้ก็อุบัติขึ้น โดยมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส ‘CoViD-19’ (โควิดไนน์ทีน) เป็นตัวจุดระเบิด ทำให้หลากประเด็นปัญหาที่สะสมมานานหลายปีปะทุขึ้นพร้อมกัน กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่จะทำให้โลกเวลาไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป

แต่ก่อนที่จะมาวิเคราะห์ถึงบทสรุปที่ว่า ‘BASELWORLD – ฤาจะถึงกาลร่ำลา’ ดังที่พาดหัวไว้ เราจะมารู้จักตำนานกว่า 100 ปีของ ‘BASELWORLD’ กันก่อน เพื่อให้เห็นภาพความสำคัญของงานประจำปีรายการนี้ได้ชัดเจนขึ้น

Stadtcasino Basel, the venue for Schweizer Mustermesse in Basel, 1917
บรรยา่กาศด้านหน้า Stadtcasino Basel สถานที่จัดงาน Schweizer Mustermesse ปี 1917 [ที่มา: MCH Group]

1917    แต่แรกนั้น งานแสดงนาฬิกานี้เป็นเพียงส่วนจัดแสดงนาฬิกาชื่อ ‘Schweizer Uhrenmesse’ (ชไวเซอร์ อัวห์รึนเมสเซ) ในภาษาเยอรมัน หรือ ‘Swiss Watch Show’ (สวิส วอทช์ โชว์) ในภาษาอังกฤษ อยู่ในงานแสดงสินค้าตัวอย่างของสวิส ‘Schweizer Mustermesse Basel’ (ชไวเซอร์ มุสเตอร์เมสเซ บาเซิล) หรือในชื่อย่อ ‘MUBA’ จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1917 ณ เมืองบาเซิล ถือเป็นงานแสดงสินค้าที่เก่าแก่ที่สุดในสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีผู้ผลิตนาฬิกาชื่อดังอย่าง Tissot (ทิสโซต์) Thommen (ธอมเมน) Longines (ลองจินส์) และ Ulysse Nardin (ยูลิส นาร์แดง) เข้าร่วมแสดง

Schweizer Mustermesse Advertisment the then Baselworld watch fair in 1917
 แผ่นภาพประชาสัมพันธ์งานแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ของสวิตเซอร์แลนด์ หรือ Schweizer Mustermesse Advertisment ในปี 1917  [ที่มา: MCH Group]

1923    จัดงาน ‘Schweizer Mustermesse Basel’ ขึ้นในพื้นที่ที่เป็นสถานที่จัดงาน ‘BASELWORLD’ ในปัจจุบันเป็นครั้งแรก และดำเนินการจัดงานและเติบโตอยู่ที่นี้มาตลอดเวลาเกือบ 100 ปี
เป็นปีแรกที่แบรนด์ Zenith (เซนิธ) เข้าร่วมแสดงผลงาน

1925    ‘MUBA’ เชิญผู้ผลิตอีกหลายรายเข้ามาร่วมจัดแสดง ทั้งในส่วนนิทรรศการและการจัดแสดงผลงาน ทำให้มีผู้คนให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ นำมาซึ่งจำนวนผู้ร่วมแสดงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

1926    อาคารที่ถูกสร้างเพิ่มขึ้นเพื่อใช้สำหรับจัดงานตั้งแต่ปี 1923 นี้กลายเป็นพื้นที่สำหรับส่วนการจัดแสดงนาฬิกาและเครื่องประดับอัญมณีทั้งอาคาร

1931    เมื่อจำนวนแบรนด์นาฬิกาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดอาคารนี้ก็กลายเป็นส่วนจัดแสดงเฉพาะนาฬิกาเพียงอย่างเดียวในปี และด้วยสเกลที่ใหญ่โตของงานกับแบรนด์นาฬิกาจำนวนมาก ทำให้ชื่องาน ‘Schweizer Uhrenmesse’ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ

1932    Patek Philippe (ปาเต็ก ฟิลิปป์) เข้าร่วมงานเป็นครั้งแรก

1934    แบรนด์สปอร์ตชื่อดัง Heuer (ฮอยเออร์) เข้าร่วมแสดงผลงานในปีนี้

1939    อีกหนึ่งแบรนด์ดังระดับแม่เหล็ก Rolex (โรเล็กซ์) ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานเป็นครั้งแรก

 

บูธจัดแสดงนาฬิกาของ Jaeger-LeCoultre ที่งานแสดงนาฬิกาและเครื่องประดับอัญมณี Schweizer Mustermesse ปี 1947
บูธจัดแสดงนาฬิกา Jaeger-LeCoultre งานแสดงนาฬิกาและเครื่องประดับอัญมณี Schweizer Mustermesse ปี 1947  [ที่มา: MCH Group]

1964    แบรนด์ผู้ผลิตนาฬิกาและอัญมณีสุดหรู Chopard (โชพาร์) เริ่มเข้าร่วมงาน หลังจากที่ตระกูล Scheufele (ชอยเฟเล) เข้ามาเป็นเจ้าของบริษัทในปี 1963

1967    เมื่องาน ‘Schweizer Uhrenmesse’ หรือที่รู้จักกันในภาษาอังกฤษว่า ‘Swiss Watch Show’ หรือ ‘Basel Fair’ (บาเซิล แฟร์) เข้าสู่สถานะเวทีสำคัญในการแสดงผลงานการผลิตนาฬิกาของโลก บรรดาแบรนด์ต่างๆ จึงใช้งานนี้เป็นเวทีเปิดตัวนวัตกรรมสำคัญต่อสาธารณชน อาทิ เทคโนโลยีนาฬิการะบบควอตซ์ที่ถูกนำออกแสดงต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกของโลกในงาน ‘Basel Fair’ ปี 1967 นี้ โดยเป็นผลงานของบริษัทสวิสนาม ‘Centre Electronique Horloger’ (ซองเตรอ อิเลกทรอนีค ออร์โลแฌร์) หรือ ‘CEH’ (ซีอีเอช)

1969    ‘Chronomatic’ (โครโนมาติก) หรือที่ต่อมารู้จักกันดีในชื่อ ‘Calibre 11’ (คาลิเบรอ อีเลฟเวน) กลไกโครโนกราฟระบบขึ้นลานอัตโนมัติด้วยโรเตอร์ขนาดเล็กเปิดตัวสู่สาธารณะในงาน ‘Basel Fair’ ที่บูธของ 4 แบรนด์ผู้เป็นพันธมิตรในการสร้าง คือ Heuer, Hamilton (ฮามิลตัน) Breitling (ไบรท์ลิง) และ Büren (บือเรน) โดยมีอีกหนึ่งผู้ผลิตกลไกนาม Dubois-Dépraz (ดูบัวส์-เดปราซ์) เป็นพันธมิตรสำคัญ

ในงานเดียวกันนี้ Zenith ยังนำเสนอกลไกโครโนกราฟอัตโนมัติความถี่สูง 36,000 ครั้ง/ชั่วโมง ที่รู้จักกันในนาม ‘El Primero’ (เอล พริเมโร) อีกด้วย โดยทั้ง ‘Chronomatic’ และ ‘El Primero’ ต่างก็เปิดตัวเพื่อชิงตำแหน่งกลไกนาฬิกาข้อมือแบบขึ้นลานอัตโนมัติ พร้อมฟังก์ชันจับเวลาโครโนกราฟชุดแรกของโลก

1971    เปิดตัวผลงานนาฬิกาควอตซ์จาก Girard-Perregaux (จิราร์ด-แปร์เรอโกซ์) ที่ทางแบรนด์พัฒนากลไกขึ้นเอง

นาฬิกาต้นแบบของตระกูล Royal Oak (รอยัล โอ๊ก) จาก Audemars Piguet (โอเดอมาร์ส ปิเกต์) ก็เปิดตัวในปี 1971 นี้เช่นกัน

1972    Audemars Piguet เปิดตัวคอลเลกชั่นบันลือโลก Royal Oak สู่ตลาดเป็นครั้งแรกในปีนี้

 

Audemars Piguet Royal Oak watch was first introduced in 1972
นาฬิกา Audemars Piguet Royal Oak โมเดลต้นแบบที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 1972 [ที่มา: FHH Journal]

1983    เทคนิคการตั้งชื่องานให้ง่ายต่อการประชาสัมพันธ์เริ่มขึ้นในปีนี้ เมื่อผู้จัดงานตัดสินใจใช้ชื่อว่า ‘Basel’ แล้วต่อด้วยเลข 2 หลักสุดท้ายของปี โดยเริ่มจาก ‘Basel 83’

เปิดตัว Swatch (สวอทช์) แบรนด์ราคาประหยัดแต่ยิ่งใหญ่ด้วยการกอบกู้อุตสาหกรรมนาฬิกาสวิสเป็นครั้งแรก

1986    จุดเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกครั้ง เพราะเป็นปีแรกที่เปิดให้ผู้ผลิตซึ่งไม่ได้อยู่ในทวีปยุโรปนำผลงานเข้าร่วมจัดแสดง เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้งาน ‘Basel’ ก้าวสู่การเป็นงานแสดงระดับนานาชาติอย่างแท้จริง ซึ่งก็ทำให้ผู้คนจากทวีปอื่นๆ หลั่งไหลเข้าร่วมงาน ทั้งผู้จัดแสดง สื่อมวลชน และตัวแทนจำหน่ายนาฬิกา ยิ่งเมื่อรวมเข้ากับกระแสการฟื้นฟูการประดิษฐ์นาฬิกากลไกจักรกลที่เริ่มจริงจังขึ้นในช่วงเดียวกัน ก็ทำให้บรรยากาศของงานคึกคักและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

1992    Cartier (คาร์เทียร์) Baume & Mercier (โบม เอต์ แมร์ซิเยร์) Piaget (เพียเจต์) Gérald Genta (เฌรัลด์ ฌองตา) และ Daniel Roth (แดเนียล รอธ) จับมือกันออกจากงาน ‘Basel’ เพื่อมาจัดงานแสดงนาฬิกาของตนเองขึ้น ณ นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เป็นครั้งแรกในปีนี้ โดยใช้ชื่องานว่า ‘Salon International de la Haute Horlogerie’ (ซาลอง แองแตร์นาซิยงนาล เดอ ลา โอต ออร์โลเฌรี) หรือ ‘SIHH Show’ (เอสไอเอชเอช โชว์) แต่มีความแตกต่างตรงที่เป็นงานแบบปิดและมีบรรยากาศหรูหรากว่ากัน โดยผู้เข้าชมงานจะต้องได้รับเชิญจากผู้จัดงานหรือแบรนด์นาฬิกาที่จัดแสดงอยู่ในงานเท่านั้น และต่อมาก็มีนาฬิกาแบรนด์อื่นๆ ทั้งที่อยู่ในเครือของกลุ่มบริษัท ‘Richemont’ (ริชมอนต์) ซึ่งเข้ามาเป็นผู้ครอบครองกลุ่ม ‘Vendôme’ (วองโดม) ต้นสังกัดของ Cartier และแบรนด์อื่นๆ ในเครือ เห็นดีเห็นงามกับรูปแบบงานที่เจนีวา จึงย้ายวิกมาร่วมกับงาน ‘SIHH’ มากขึ้นเรื่อยๆ

1999    ผู้จัดงานตัดสินใจปรับปรุงอาคารเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการจัดแสดงให้มากยิ่งขึ้น พร้อมจัดสรรพื้นที่ให้กับกลุ่มนาฬิกาประเภทต่างๆ อย่างชัดเจน นำมาซึ่งการลงทุนในด้านสถาปัตยกรรมโครงสร้างบูธอย่างน่าตกใจของหลายแบรนด์ เช่น อาคารบูธ 3 ชั้นของ TAG Heuer (แทค ฮอยเออร์) อาคารบูธ 2 ชั้นของ Rolex และอาคารบูธอันงามหรูของ Patek Philippe

แม้ว่าช่วงก่อนสหัสวรรษใหม่ จะถือได้ว่า Baselworld ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องมาตลอด ทว่าการที่แบรนด์ต่างๆ หันมารวมตัวจัดตั้งงานแสดงนาฬิกาของตนเองนั้น ดูเหมือนจะเป็นเค้ารางของรอยร้าวที่นำไปสู่การตัดสินใจยุติการจัดแสดงของอีกหลายหลายแบรนด์ที่ตามมาอย่างต่อเนื่อง เกิดอะไรขึ้นกับงาน Baselworld แบรนด์ใดบ้างที่ยืนหยัดร่วมจัดแสดง และอะไรที่เป็นตัวจุดชนวนระเบิดเวลาจนทำให้งาน Baselworld ดำเนินมาถึงรอยต่อที่อาจหมายถึงการบอกลา

ติดตามอ่าน BASELWORLD ฤาจะถึงกาลร่ำลา? (ตอนที่ 2) พร้อมชมวิดีโอบันทึกภาพประวัติศาสตร์ร้อยปีของงานมหกรรมที่กล่าวได้ว่าเป็นหัวใจของเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของสวิตเซอร์แลนด์

Tags:


We’re here to help


Loading Consult A Specialist Form

Change Country

Select your country:

Share

Share via:

To find out more about our available positions, please visit our Careers page.