Interviews • 27 May 2019

Max Büsser: เบื้องลึกเบื้องหลังว่าด้วยนาฬิกา รอยสัก และไอเดียบรรเจิด


ช่วงปลายปี 2018 ที่ผ่านมา คุณแมกซิมิเลียน บูซเซอร์ (Maximilian Büsser) หรือ แมกซ์ (Max ) นักธุรกิจหนุ่มชาวสวิสฯ ซีอีโอและผู้ก่อตั้งแบรนด์นาฬิกาชื่อดัง MB&F เดินทางมาร่วมงานเปิดตัวนาฬิกา HM9 ที่ประเทศสิงคโปร์ (คลิกที่นี่ เพื่อชมวิดีโอคุณแมกซ์พูดถึงนาฬิกา HM9) และมีโอกาสได้พบปะ ให้สัมภาษณ์ กับบรรดานักสะสมตัวยงของนาฬิกา MB&F นอกจากความซับซ้อน ท้าทาย ในการผลิตกลไกของนาฬิกา HM9 ที่ทาง MB&F ใช้เวลาพัฒนายาวนานถึง 13 ปีแล้ว คุณแมกซ์ยังเปิดโอกาสพูดคุยบอกเล่าเรื่องชีวิตส่วนตัว แรงบันดาลใจในการทำงาน และที่มาที่ไปของความชื่นชอบหลงใหลเรื่องกลไกเครื่องบอกเวลา

[THG] MB&F มีที่มาที่ไปอย่างไร?

ตอนที่ผมเริ่มต้น MB&F ผมเอาเงินเก็บทั้งหมดของผม ที่มีอยู่ประมาณ 27-28 ล้านบาท ทุ่มลงไปที่บริษัทเลยครับ ซึ่งสำหรับคนธรรมดาๆ คนนึง มันเยอะมาก แต่ถ้าถามผมตอนนี้ว่า เวลาอยากจะตั้งบริษัทนาฬิกาออโตฯ สักบริษัท ควรมีเงินสักเท่าไหร่ ผมบอกเลยว่า ควรจะมีมากกว่านั้นสักสิบเท่า แล้วก็การันตีไม่ได้ด้วยว่ามันจะรุ่งหรือเปล่า อาจจะเจ๊งก็ได้ แต่ตอนนั้นผมทุ่มหมดตัวแล้วก็เริ่มตั้งต้นทำงานจากอพาร์ทเมนท์ของผมนั่นแหละ ไม่นานผมก็รู้ว่า ผมไม่มีทุนมากพอ แต่แทนที่ผมจะไปหาคนมาช่วยลงทุน ผมกลับมาคิดว่า อืม ทำไมเราไม่ไปหารีเทลเลอร์ประเภทห้างขายนาฬิกาแล้วให้เขาจ่ายเงินจองนาฬิกาของผมล่วงหน้า แล้วสองปีผมค่อยส่งนาฬิกาให้เขาแทน คิดแบบนั้นได้ผมก็ออกเดินทางไปทั่วโลกเลยครับ เดินทางอยู่สามสัปดาห์ ไปเจอรีเทลเลอร์อย่าง Harry Winston แล้วก็เล่าคอนเซ็ปท์ให้ฟัง ตอนนั้นทั้งเนื้อทั้งตัว ผมมีแค่ภาพวาดในกระดาษกับพลาสติกชิ้นนึงที่หน้าตาดูเป็นนาฬิกาไปนำเสนอ ไปพูดให้คนอื่นฟังว่า “นี่คือ คอนเซ็ปท์ทั้งหมดทั้งมวลของ นาฬิกา HM1 ของผมครับ ไม่ทราบจะออเดอร์ล่วงหน้าสักกี่เรือนดี?” ตอนนั้นผมตั้งใจว่า ถ้าเขาตอบตกลง ผมก็จะขอค่ามัดจำล่วงหน้าหนึ่งในสามก่อน แล้วอีกสองปีผมถึงจะส่งนาฬิกาให้เขา ถ้าผมทำออกมาได้สำเร็จจริงๆ ตอนนั้นผมหาได้ทั้งหมดเลยหกเจ้า หนึ่งในสองของคนที่ตอบตกลงกับผมทันทีว่า “เราเอาด้วยแน่นอน ไม่ต้องสงสัยเลย” ก็คือคุณ Michael Tay แห่งกลุ่มบริษัท The Hour Glass นี่แหละครับ ผมเดินทางถึงสิงคโปร์ เอาไอเดียของผมไปเล่าให้เขาฟัง เขาก็ตอบกลับมา “ขอเลขบัญชีธนาคารหน่อย” ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่มีวันลืมเลย รู้ไหมครับว่า ตัว F ใน MB&F นั้นมาจากคำว่า Friends หรือ เพื่อนๆ มิตรสหาย ผมยังไม่อยากเชื่อเลยว่า จากวันนั้น เราเดินมาไกลถึงจุดนี้ได้ นั่นแหละครับ เรื่องราวของ MB&F เรื่องราวของผู้คนที่ยินดีช่วยเหลือและสนับสนุนเรามาตลอดอย่างที่เราก็คาดไม่ถึง

Maximilian Büsser
Maximilian Büsser

 

แล้วก่อนหน้าที่จะเริ่มต้น MB&F …

ผมทำงานกับ The Hour Glass มาประมาณ 7 ปีแล้วครับ ช่วงแรกที่ผมเริ่มงานกับ Harry Winston ผมเดินทางไปพบ Dr.Henry Tay และ Michael – ซึ่งตอนนั้นเขาเพิ่งเริ่มงาน ไปนำเสนอนาฬิกาของ Harry Winston ซึ่งต้องเรียนตามตรงว่าสมัยนั้นยังไม่ค่อยมีอะไรมาก แต่ Dr.Henry Tay คงมองเห็นอะไรบางอย่างในตัวผม เขาเลยตกลงรับนาฬิกานั้นไว้เป็นรุ่นเอ็กซ์คลูซีฟสำหรับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วเราก็สานต่อธุรกิจด้วยสัมพันธ์อันดีต่อกันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผมเชื่อว่าครอบครัวตระกูล Tay มองออกว่า ผมเป็นคนพูดจริงทำจริง และจะพยายามจนถึงที่สุดเสมอ พอผมไปนำเสนอไอเดียของ MB&F คุณ Michael เลยไม่ลังเลที่จะตอบตกลง

เส้นทางธุรกิจจนมาถึงตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง?

การตัดสินใจทำ MB&F เรียกว่าเป็นการตัดสินใจเรื่องชีวิตของผมเลยนะครับ ไม่ใช่แค่การตัดสินใจทางธุรกิจ ผมมารู้ตัวทีหลังว่า จากบทบาทของครีเอทีฟหรือผู้ที่สร้างสรรค์อะไรออกมาเนี่ย ผมได้กลายเป็นนักการตลาดแทน ผมเคยใช้เวลาสร้างนาฬิกาเพื่อป้อนสู่ตลาด เป็นอยู่อย่างนั้นจนในที่สุดผมก็มารู้ว่า ถ้าผมไม่อยากมาเสียใจทีหลังตอนบั้นปลายชีวิต ผมต้องกลับไปสร้างสรรค์ให้ได้ ต้องลงมือทำไอเดียที่ฟังดูหลุดโลกทั้งหลายทั้งปวง ที่ผมเคยต้องทิ้งมันไปเพียงเพราะมันไม่ได้เป็นที่ต้องการของตลาดทั่วไป ผมต้องสร้างบริษัทที่ผมภาคภูมิใจให้ได้ ซึ่งในช่วงแรกๆ ก็ยากพอสมควรเพราะผมต้องสร้างทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวเอง โดยไม่มีใครมาคอยสอน เพราะก่อนหน้านี้เคยถูกสอนให้ทำงานเพื่อป้อนสู่ตลาดเท่านั้น สำหรับดีไซเนอร์คนหนึ่ง หน้าที่ของเขาคือการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีกับลูกค้า ผลิตภัณฑ์ที่ขายได้ขายดี แต่ผมไม่ใช่ดีไซเนอร์ไงครับ ผมเป็นวิศกร เค้าโครงแรกๆ ของรุ่นแรก HM1 ผมใช้เวลาออกแบบอยู่กว่า 300 ชั่วโมง ทุกซอก ทุกมุม ทุกรายละเอียด ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยากและทรมานใจพอสมควร เพราะผมต้องคอยถามตัวเองตลอดเวลาว่า ที่ทำอยู่นี้ เป็นตัวผมรึเปล่า ใช่สิ่งที่ผมอยากสร้างไหม แทนที่จะถามว่า ทำแล้วจะขายได้ไหม เหมือนที่เคยทำก่อนหน้า ก็เป็นการสร้างสรรค์ที่ต่างไปโดยสิ้นเชิง ก็ทั้งเครียดทั้งมีความสุขไปพร้อมๆ กัน

พอเราตั้งต้นได้แล้ว มาถึงรุ่นที่สอง ที่สาม ทุกอย่างก็เริ่มง่ายขึ้น ยิ่งได้สร้างอะไรมากขึ้นเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งอยากสร้างเพิ่มมากขึ้นๆ ไปอีก จากที่เคยต้องหยุดคิดเพื่อวิเคราะห์กันทุกแง่ทุกมุม หลังๆ ไอเดียต่างๆ มันหลั่งไหลเข้ามาเอง จนบางทีผมก็ต้องหยุดๆ ไว้บ้างเพราะโปรเจคท์ต่างๆ ที่ผุดไอเดียไว้ยังต่อคิวอยู่อีกเยอะเหลือเกิน

 

HM7 Aquapod Ti Green

 

ได้ยินว่าได้ร่วมงานกับ Kari Voutilainen ด้วย เป็นอย่างไรบ้าง?

การได้ทำงานกับคนเก่งๆ ที่มีพรสวรรค์ ถือเป็นเรื่องทีเรียกได้ว่าวิน-วิน นะครับ แต่การได้ร่วมทีมกับ Kari Voutilainen หรือ L’Epée นั้น ผมถือว่าเป็นสิ่งก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่ายจริงๆ เพราะผลงานที่ออกมานั้น ไม่ธรรมดาเลย ซึ่งผลงานที่ยอดเยี่ยมถึงขั้นนั้น ย่อมทำให้เราสามารถสื่อสารออกไปได้ดีขึ้น ได้ง่ายขึ้น ประสบการณ์การทำงานกับทั้ง Voutilainen และ L’Epée นั้นสุดยอดมากครับ และตัวผมเองก็มองหาโอกาสที่จะได้ร่วมสร้างสรรค์ผลงานกับคนที่มีความสามารถอยู่เสมอ

ตอนที่ผมเริ่มทำ LM1 พวกงานทางวิศวกรรมทั้งหมด ทาง Jean-François Mojon จะเป็นคนดูแลรับผิดชอบ แต่ผมก็ยังต้องหาใครสักคนที่มีความเชี่ยวชาญ ทันยุคทันสมัย มาช่วยดีไซน์งานอยู่ดี แล้ว Kari ก็เป็นเพื่อนกับผมพอดี ผมคิดว่าต้องเป็นคนนี้แหละ แล้วก็ตรงไปหาเขาที่ Môtiersand ที่เขาทำเวิร์คช็อปอยู่ ไปนั่งคุยกัน ผมบอกเขาว่าผมอยากจะสร้างสรรค์งานคลาสสิคขึ้นมาสักชิ้น เอาให้ยอดเยี่ยมสมเป็นผลงานแห่งศตวรรษที่ 19 เลย แล้วผมก็อยากได้เขามาช่วย ด้วยความที่เขาไม่เคยเห็นตัวชิ้นงาน เขาก็ตอบปฏิเสธมาแบบสุภาพๆ ว่า “ตอนนี้งานยุ่งมาก จริงๆ ก็อยากช่วยทำนะ แต่ตอนนี้งานเยอะมาก” ตอนนั้นผมอึ้งไปเหมือนกัน ในใจคิดว่า ทำไงต่อดีล่ะทีนี้ ก็เลยตัดสินใจ เอาภาพโครงร่างชิ้นงานให้ดู ผมบอกเขาไปว่า ผมมีภาพชิ้นงานอยู่นะ ช่วยดูให้หน่อย ขอคำแนะนำหน่อย แล้วก็หยิบขึ้นมาวางให้เขาดู เขาก็ดู แล้วก็เงียบ ไม่พูดอะไรเลยไปพักใหญ่ๆ แล้วก็หยิบเอาดินสอขึ้นมาวาด แล้วตั้งต้นร่ายยาวเลย “เป็นผมนะ ผมจะวางบริดจ์แบบนี้ ส่วนสกรูก็จะเป็นแบบนี้ แล้วก็ … ฯลฯ” ยาวไปแบบนั้นอยู่สักประมาณ 5 นาทีได้ เสร็จแล้วเขาก็เงยหน้าขึ้นมา ผมก็มองหน้าเขา นึกภาพออกไหมครับ มันจะมีอยู่ช่วงเวลานึง ในชีวิตคนเราเนี่ยครับ เป็นเหมือนแบบ นาทีเปลี่ยนชีวิต ของเราเลย นาทีนั้นผมตัดสินใจถามออกไปว่า “Kari ตกลงคุณจะทำโปรเจคท์นี้กับผมใช่ไหม?” เขาก็ยิ้มๆ แล้วก็บอกว่า “ถ้าเป็นงานนี้ ผมทำแน่นอน!” แล้วทุกอย่างก็เริ่มต้นจากตรงนั้นครับ นึกย้อนหลังไปผมก็ยังขนลุกอยู่เลยครับ

Kari Voutilainen, Maximilian Büsser & Jean-François Mojon

เรื่องของ Legacy1 อีกเรื่องหนึ่งที่ผมประทับใจยังมีอีกเรื่องครับ จริงๆ มีหลายเรื่องมากนะ แต่ที่เป็นพิเศษก็คือ ตอนที่ Kari ได้เห็นชิ้นงานที่สำเร็จออกมาแล้วนั่นแหละครับ จริงๆ เขาก็เป็นคนออกแบบกลไกการทำงานนั่นแหละ แต่เขายังไม่เคยเห็นตอนที่ประกอบเข้ากับตัวเรือนเสร็จสมบูรณ์แล้วไง ตอนนั้นที่งานแสดงนาฬิกา Basel Fair 2011 ในบูธจัดแสดง บูธเล็กๆ ของเรา เขาก็เดินเข้ามา ผมก็ปิดประตู แล้วก็ยก Legacy1 ขึ้นมาวางให้เขาดู ซึ่ง Kari เนี่ย เมื่อก่อนเขาเป็นคนเงียบๆ ไม่ค่อยเปิดเผยหรือแสดงออกอะไรมากเท่าปัจจบันนี้นะครับ ตอนนั้นเขาก็หยิบนาฬิกาพาดบนข้อมือแล้วก็บอกว่า “โอ้โห สุดยอด!” อยู่ๆ เขาก็มองหน้าผมแล้วก็ถามตรงๆ เลย “แลกกันไหม?” ผมงงๆ เลยถามเขาไป “เดี๋ยวนะครับ แลกนี่คือ หมายความว่าไง?” เขาก็ตอบมา “ก็คุณยกเรือนนี้ให้ผม แล้วคุณอยากได้เรือนไหนของผมก็เอาไปได้เลย แลกกัน” สำหรับคนอย่างผมแล้ว มันคือความรู้สึกที่ สุดยอดมาก เป็นนาทีที่ยิ่งใหญ่มากในชีวิตผม ที่อยู่ๆ ช่างทำนาฬิกาที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของโลก มาขอแลกนาฬิกากับผมแบบนี้

พูดถึงนาทีที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต พอจะบอกได้ไหมว่า ช่วงเวลาไหน ที่เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทำให้คุณเป็นตัวคุณอย่างทุกวันนี้ได้?

จริงๆ นาทีที่สำคัญๆ ต่อชีวิตผม มีอยู่หลายจุดเหมือนกันนะครับ แรกสุดเลยก็คงจะเป็น ตอนที่คุณ Henry-Jean Belmont พูดกับผมว่า “มาทำงานด้วยกันที่ Jaeger สิ [Jaeger-LeCoultre]” ตอนนั้น เขาคือคนที่มองเห็นอะไรบางสิ่งในตัวผม สิ่งที่ผมเองมองไม่เห็นด้วยซ้ำ ผมไม่ใช่เด็กประเภทที่เชื่อมั่นในตัวเองขนาดนั้น ผมสงสัยตัวเองอยู่ตลอดเวลาด้วยซ้ำ เขาเชื่อมั่นในตัวผมมากกว่าที่ผมมั่นใจในตัวเองเสียอีก เป็นคนที่ช่วยเหลือ ดูแล คอยสั่งสอนผม เหมือนผมเป็นลูกชายของเขาเลย ถือเป็นผู้ที่มีบุญคุณกับผมมากครับ เป็นคนที่ทำให้ชีวิตผมมีความหมายขึ้นมา แล้วก็ ประมาณเจ็ดปีถัดมา ก็มีคุณ Ronald Winston กับคุณ Robert Benvenuto (ซึ่งดำรงตำแหน่งซีอีโอของ Harry Winston ในขณะนั้น) ซึ่งผมว่าเค้าใจกล้าบ้าบิ่นมากที่แต่งตั้งให้ผมเป็น managing director ของนาฬิกา Harry Winston ตั้งแต่ผมอายุแค่ 31 ปี มันเหมือนกับการยกกุญแจรถให้เด็กคนหนึ่ง ที่แทบไม่มีประสบการณ์อะไรเลย เป็นคนขับเคลื่อนบริษัท ซึ่งตอนนั้นผมเองก็ไม่ทราบว่ากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ขั้นวิกฤติ ให้ก้าวต่อไปข้างหน้าให้ได้ นั่นล่ะครับ คือจุดเปลี่ยนชีวิตของผมเลย การได้รับความไว้วางใจให้ดูแลส่วนงานนาฬิกาของ Harry Winston ได้เข้าไปกู้สถานการณ์ และทำให้มันเติบโตขึ้นได้ ก็เป็นโอกาสที่ทำให้ผมรู้และเข้าใจความสามารถของตัวเอง และในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสให้ผมเรียนรู้ด้วยว่า สิ่งไหนที่ใช่ หรือไม่ใช่ สำหรับตัวเอง พอผมค้นพบแล้วว่ามันไม่ใช่ ผมก็เลยเลือกเดินทางของตัวเองและสร้าง MB&F ขึ้นมา เรียกว่า ถ้าไม่มี Jaeger ถ้าไม่มี Harry Winston ก็คงไม่มี MB&F ซึ่งสองจุดเปลี่ยนในช่วงระยะเวลา 7 ปี นี้แหละครับที่หล่อหลอมให้ผมเป็นตัวผมอยู่ทุกวันนี้ ถ้าขาดแม้แต่สิ่งใกสิ่งหนึ่งไป แบรนด์ของผมก็ไม่มีทางได้เกิดขึ้น

มาที่เรื่องตัวคุณแมกซ์เองบ้างดีกว่า ได้ยินมาว่าคุณแมกซ์มีรอยสักด้วย

จริงๆ ผมไม่เคยคิดจะสักมาก่อนเลยนะ จนมาจุดประกายก็ตอนที่ได้รู้จักกับ Mo Coppoletta ศิลปินผู้เชี่ยวชาญเรื่องการสักชื่อดังของลอนดอน ซึ่งเป็นนักสะสมนาฬิกาตัวยงด้วย แล้วก็กลายมาเป็นเพื่อนกัน ตอนที่ผมได้เห็นผลงานสักของเขา ผมอึ้งมาก ประทับใจมากจนตั้งใจไว้ว่าสักวันหนึ่งผมจะต้องมีรอยสักบ้าง แต่ก็คิดเยอะเพราะว่า ถ้าเราคิดสักจริงๆ มันต้องเป็นอะไรที่อยู่กับเราไปได้ตลอดชีวิต ไม่ใช่อีกสักพักก็เบื่อ หรืออีกสองสามปีก็อาย ไม่อยากให้ใครเห็น อย่างนี้

คุณพ่อของผมเคยมีความใฝ่ฝันอยากทำงานกับศูนย์อนุรักษ์ช้างในแอฟริกา คุณพ่อชื่นชอบช้างมากครับ ส่วนคุณแม่ผมเป็นคนอินเดีย ซึ่งแน่นอนว่าช้างเป็นสัตว์สำคัญของประเทศอยู่แล้ว และนับถือองค์พระพิฆเนศด้วย ดังนั้นวันหนึ่งผมได้กลับไปเจอ Mo บอกกับเขาว่า ผมอยากสักเป็นรูปอะไรที่เกี่ยวกับช้างหรือพระพิฆเนศ แต่อยากได้แบบกราฟฟิค ไม่เอาแบบที่ดูปุ๊ปก็รู้เลยว่าเป็นช้าง เขาก็ร่างแบบส่งมาให้ผมดูหลายแบบจนผมเจออันที่ใช่ แล้วก็ไปหาเขาที่ร้านสักที่ลอนดอน ตกลงใจว่าจะสักลายนี้ เขาก็ถามผมว่า “อยากได้รอยสักใหญ่ขนาดไหนล่ะ?” ผมก็งงๆ “ขนาดไหนนี่หมายความว่าไง ผมไม่ได้นึกเรื่องนี้มาก่อนเลย” เขาก็เลยร่างรูปให้ผมลองเลือกดู จนได้ขนาดที่พอใจ แล้วก็ลงมือสักกัน ผ่านมาสองสามปีแล้ว ผมชอบมากครับ ไม่เคยนึกเสียใจเลยที่ไปสัก มันรู้สึกเหมือนเป็นการอุทิศให้กับพ่อและแม่ อุทิศให้กับผู้คนที่ช่วยเหลือกันมาจนผมมีทุกวันนี้ แทนที่จะระลึกถึงเฉยๆ ผมก็มีรอยสักเป็นเสมือนสิ่งแทนความรู้สึกเหล่านั้นติดตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งผมมั่นใจว่าอย่างไรผมก็ไม่มีวันไม่รู้สึกเสียใจที่ไปสักนะครับ

หุ่นกล Balthazar และ Arachnophobia

อยากทราบเรื่องชื่อ Melchior กับ Balthazar มีที่มาที่ไปอย่างไร?

เป็นชื่อยอดนิยมของคนในตระกูล Büsser ของผมมาตั้งแต่ช่วงยุคสมัย ปี 1400 ได้ครับ คุณพ่อของผมสืบสาวต้นตระกูลไปได้ไกลขนาดนั้น ตระกูล Büsser มีต้นกำเนิดมาจากสวิตเซอร์แลนด์แถบเยอรมัน ผู้ชายในตระกูลนิยมตั้งชื่อลูกชายคนโตว่า Balthazar, Melchior เป็นแบบนี้มา 500 กว่าปี คุณปู่ของผมก็ชื่อ Melchior Büsser แล้วท่านก็ไม่ขอบเลยเวลาใครเรียกท่านด้วยชื่อนี้ ท่านเลยบอกคนอื่นๆ ให้เรียกท่านว่า แมกซ์ พอผมเกิด ด้วยความระลึกถึงคุณปู่ คุณพ่อคุณแม่ก็ตั้งชื่อผมว่า แมกซ์ หรือชื่อเต็มๆ ว่า Maximilian ครับ แต่ตัวผมเองกลับชอบชื่อ Melchior จนถึงขนาดไปบอกภรรยาว่า ถ้ามีลูกชาย จะตั้งชื่อว่า Melchior ภรรยาผมตอบมาว่า – ผมแปลงให้สุภาพๆ ขึ้นหน่อยละกัน – ว่า “ให้ตายก็ไม่เอาชื่อนี้” ผมรู้ว่าเธอไม่ยอมแน่ๆ ก็เลยยอมแพ้ แต่ก็ยังถามต่อไปว่า “ถ้างั้นผมเอามาตั้งเป็นชื่อหุ่นยนต์ฉลองครบรอบ 10 ปี แทนได้ไหม?” เธอตอบกลับมา “คุณจะทำอะไรกับหุ่นยนต์ของคุณก็ทำไปเลย ตามสบาย!” ดังนั้นหุ่นรุ่นฉลองครบรอบ 10 ปี MB&F ก็เลยได้ชื่อว่า Melchior ครับ ทุกชิ้นงานของผมจะมีสิ่งที่เป็นตัวตนของผม หรือของครอบครัวผม รวมอยู่ด้วยเสมอ

มาที่คำถามสุดท้าย อะไรคือสิ่งที่คุณกลัวมากที่สุดในอุตสาหกรรมนาฬิกา และอะไร ที่ยังทำให้คุณเชื่อมั่นและยังมีความหวังอยู่?

สิ่งที่กลัวที่สุดก็คือ ในอุตสาหกรรมการผลิตนาฬิกา เรามีคนที่ทำนาฬิกาด้วยใจรักน้อยเกินไปครับ นี่ล่ะครับที่ผมกลัวที่สุดทุกวันนี้ คนผลิตนาฬิกาที่ไม่ได้ทำงานออกมาด้วยใจรักในสิ่งที่ทำอยู่มีเยอะมาก แล้วผลเสียผลร้ายที่จะเกิดตามมานี่ ผมไม่อยากจะนึกถึงเลยด้วยซ้ำ แต่ยังมีสิ่งที่ทำให้ผมมีความหวัง ก็คือ ผมเห็นกลุ่มช่างทำนาฬิกาที่มีศิลปะ สร้างสรรค์ ในการทำงานเพิ่มมากขึ้น เป็นกลุ่มคนที่มองเห็นตัวตนของคน ยึดเอาตัวคนเป็นหลัก ไม่ใช่ยึดติดอยู่กับแบรนด์ ผมได้เห็นผลงานที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ผมได้เห็นไอเดียผุดขึ้นมา เห็นผลงานศิลปะที่สวยงาม และก็เป็นโชคดีของเราด้วยที่มีผู้บริโภคส่วนหนึ่งที่ปกติเคยชินกับการซื้อสินค้าแบรนด์ใหญ่ๆ หันมาให้ความสนใจชิ้นงานของเรา และเริ่มเข้าใจถึงจิตวิญญาณ และความหมายอันลึกซึ้งของผลงานศิลปะแต่ละชิ้นงาน จริงๆ ส่วนหนึ่งผมต้องขอขอบคุณแบรนด์ใหญ่ๆ เหล่านั้น เพราะเขาทำหน้าที่เป็นสื่อที่เข้าถึงผู้บริโภคให้เข้ามาสู่โลกของการผลิตนาฬิการะดับไฮเอนด์ พวกเขามีงบประมาณ มีสื่อ มีกำลังที่จะเข้าถึงซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่มี ซึ่งเมื่อผู้บริโภคเข้าถึงชิ้นงานที่สวยงามของแบรนด์ใหญ่ๆ เหล่านั้นได้ ก็จะเป็นโอกาสให้ได้เข้ามาสัมผัสกับแบรนด์ที่เน้นศิลปะ เน้นความสร้างสรรค์ระดับสูงสุดอย่างเราครับ

 

Tags: hm1 hm2 hm3 hm4 hm5 hm6 hm7 hm8 hm9 horological machines independant watchmaking max busser mb&f


We’re here to help


Loading Consult A Specialist Form

Change Country

Select your country:

Share

Share via:

To find out more about our available positions, please visit our Careers page.